วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
การเตรียมการเปลี่ยนแปลง
คณะราษฎรได้มีการประชุมเตรียมการหลายครั้ง รวมถึงได้มีการล้มเลิกแผนการบางแผนการ เช่น การเข้ายึดอำนาจในวันพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาซึ่งตรงกับวันที่ 16 มิถุนายน แต่เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง จนกระทั่งสุดท้ายได้ข้อสรุปว่า จะดำเนินการในเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับที่วังไกลกังวล ทำให้เหลือข้าราชการเพียงไม่กี่คนอยู่ในกรุงเทพ
ในการวางแผนดังกล่าวกระทำที่บ้าน ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการวางแผนควบคุมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร โดยมีการเลื่อนวันเข้าดำเนินการหลายครั้งเพื่อความพร้อม
ประชาชนหลั่งไหลเข้ามาดูเหตุการณ์ ณ ลานพระราชวังดุสิต
หลังจากนั้นยังได้มีการประชุมกำหนดแผนการเพิ่มเติมอีกที่บ้านพระยาทรงสุรเดช โดยมีการวางแผนว่าในวันที่ 24 มิถุนายนจะดำเนินการอย่างไร และมีการแบ่งงานให้แต่ละกลุ่ม แบ่งออกเป็น 4 หน่วยด้วยกัน คือ
หน่วยที่ 1 ทำหน้าที่ทำลายการสื่อสารและการคมนาคมที่สำคัญ เช่น โทรศัพท์ โทรเลข ดำเนินการโดยทั้งฝ่ายทหารบกและพลเรือน ทหารบกจะทำการตัดสายโทรศัพท์ของทหาร ส่วนโทรศัพท์กลางที่วัดเลียบมี นายควง อภัยวงศ์ นายประจวบ บุนนาค นายวิลาศ โอสถานนท์ ดำเนินการ โดยมีทหารเรือทำหน้าที่อารักขา ส่วนสายโทรศัพท์และสายโทรเลขตามทางรถไฟและกรมไปรษณีย์เป็นหน้าที่ของ หลวงสุนทรเทพหัสดิน หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ เป็นต้น ซึ่งหน่วยนี้ยังรับผิดชอบคอยกันมิให้รถไฟจากต่างจังหวัดแล่นเข้ามาด้วย โดยเริ่มงานตั้งแต่เวลา 06.00 น.
หน่วยที่ 2 เป็นหน่วยเฝ้าคุม โดยมากเป็นฝ่ายพลเรือนผสมกับทหาร ทำหน้าที่ควบคุมตัวเจ้านายและบุคคลสำคัญต่าง ๆ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต จากวังสวนผักกาดมายังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระประยุทธอริยั่น จากกรมทหารบางซื่อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการวางแผนให้เตรียมรถยนต์สำหรับลากปืนใหญ่มาตั้งเตรียมพร้อมไว้ โดยทำทีท่าเป็นตรวจตรารถยนต์อีกด้วย โดยหน่วยนี้ดำเนินงานโดย นายทวี บุณยเกตุ นายจรูญ สืบแสง นายตั้ว ลพานุกรม หลวงอำนวยสงคราม เป็นต้น โดยฝ่ายนี้เริ่มงานตั้งแต่เวลา 01.00 น.
หน่วยที่ 3 เป็นหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนย้ายกำลัง ซึ่งทำหน้าที่ประสานทั้งฝ่ายทหารบกและทหารเรือ เช่น ทหารเรือจะติดไฟเรือรบ และเรือยามฝั่ง ออกเตรียมปฏิบัติการณ์ตามลำน้ำได้ทันที
หน่วยที่ 4 เป็นฝ่ายที่เรียกกันว่า "มันสมอง" มี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ร่างคำแถลงการณ์ ร่างรัฐธรรมนูญ และหลักกฎหมายปกครองประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการเจรจากับต่างประเทศเพื่อทำความเข้าใจภายหลังการปฏิบัติการสำเร็จแล้ว
แม้ว่าทางคณะราษฎรจะพยายามที่ทำลายหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ยังมีข่าวเล็ดรอดไปยังทางตำรวจ ซึ่งได้ออกหมายจับกลุ่มผู้ก่อการ 4 คน คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี และ นายตั้ว ลพานุกรม อย่างไรก็ตามเมื่อนำเข้าแจ้งแก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็ถูกระงับเรื่องไว้ก่อน เนื่องจากไม่ทรงเห็นว่าน่าจะเป็นอันตราย และให้ทำการสืบสวนให้ชัดเจนก่อน
การยึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายน 2475
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร ได้ใช้กลลวง นำทหารบกและทหารเรือมารวมตัวกันบริเวณรอบ พระที่นั่งอนันตสมาคม ประมาณ 2000 คน ตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา โดยอ้างว่าเป็นการสวนสนาม จากนั้นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่าน ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เสมือน ประกาศยึดอำนาจการปกครอง ก่อนจะนำกำลังแยกย้ายไปปฏิบัติการต่อไป
หลักฐานประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นหมุดทองเหลือง ฝังอยู่กับพื้นถนน บนลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านสนามเสือป่า
ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์สังคม
ทางประวัติศาสตร์สังคม หลักฐานประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นหมุดทองเหลือง ฝังอยู่กับพื้นถนน บนลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านสนามเสือป่าอาจกล่าวได้ว่า "กบฏ ร.ศ. 130" เป็นแรงขับดันให้คณะราษฎร ก่อการปฏิบัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยภายหลังการยึดอำนาจแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนาได้เชิญผู้นำการกบฏ ร.ศ. 130 ไปพบและกล่าวกับ ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ว่า "ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม" และหลวงประดิษมนูธรรมก็ได้กล่าวในโอกาสเดียวกันว่า "พวกผมถือว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องจากการกระทำเมื่อ ร.ศ. 130"
สังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ครองราชย์นั้น สังคมไทยได้ก้าวสู่ความเป็นอารยะตามแบบตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเจริญที่ปรากฏอยู่ในรูปของวัตถุไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง รถไฟ ไฟฟ้า ประปา เขื่อนชลประทาน โรงพยาบาล ระบบการสื่อสารคมนาคม ที่ทำการรัฐบาล ห้างร้าน และตึกรามบ้านช่อง ตลอดจนเครื่องใช้อันทันสมัย อันมีเจ้านายและชนชั้นสูงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ส่วนชาวบ้านสามัญชนเป็นผู้ตาม
นอกจากนั้นยังมีการเปลี่ยนแปลงในขนบธรรมเนียมบางอย่างเพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองระบบใหม่ ทั้งนี้เพราะรัฐบาลต้องติดต่อกับชาติอื่น ๆ ทั่วโลก จึงต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไทยให้เป็นสากลและสอดคล้องกับความเป็นไปของโลก แต่ให้คงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยไว้ที่เด่นชัดในสมัยนั้นก็คือเรื่องการแต่งกายในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ( พ.ศ. 2481-2487 ) ได้มีบัญญัติเรียกว่า “ รัฐนิยม “ ซึ่งเป็นการปลุกระดมอย่างรุนแรง ซึ่งแสดงนโยบายของประเทศว่าต้องการให้ประชาชนคนไทยรักหวงแหนและภูมิใจในความเป็นไทย เช่น ให้ข้าราชการแต่งเครื่องแบบตามที่กำหนด ห้ามสวมกางเกงแพร ให้ทักทายกันด้วยคำว่า “ สวัสดี “ ห้ามกินหมาก ให้สวมหมวกทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ใช้คำขวัญปลุกใจทุกเช้าก่อนเรียน การยกเลิกบรรดาศักดิ์โดยให้ใช้เพียงชื่อ สกุล เหมือนคนทั่วไป การเคารพธงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงมหรสพ ฯลฯ
สภาพสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญ คือ
ประชาชนขึ้นมาเป็นเจ้าของประเทศและมีบทบาทในการปกครองประเทศด้วยกระบวนการกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ชนชั้นกลาง พวกพ่อค้า ปัญญาชน ขึ้นมามีบทบาทในสังคมแต่ผู้กุมอำนาจยังคงได้แก่ทหารและข้าราชการ
นายทุนเติบโตจากการค้าและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วพร้อมทั้งมีอิทธิพลและบทบาทจนได้เปรียบในสังคม
เกิดช่องว่างในสังคมทำให้ชาวไร่ ชาวนา และกรรมกรมีฐานะและชีวิตอยู่กับความยากจนและถูกเอารัดเอาเปรียบจากสังคม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น